วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

สิงโต


             สิงโต (อังกฤษLion) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในวงศ์ Felidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว สิงโตมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera leo มีขนาดลำตัวใหญ่ ขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่งทั่วไป (P. tigris) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุล Panthera เหมือนกัน จัดเป็นสัตว์ในวงศ์ Felidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองมาจากเสือโคร่งไซบีเรีย (P. t. altaica) พื้นลำตัวสีน้ำตาล ไม่มีลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ขนปลายหางเป็นพู่ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง มีน้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม (550 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีน้ำหนักประมาณ 180กิโลกรัม (400 ปอนด์) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย ในป่าธรรมชาติ สิงโตมีอายขัยประมาณ 10-14 ปี ส่วนสิงโตที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 

สิงโตเป็นสัตว์ที่สูงที่สุด (สูงจรดหัวไหล่) ในวงศ์แมวและมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเสือโคร่ง สิงโตมีกะโหลกศีรษะคล้ายกับเสือโคร่งมาก แม้ว่าบริเวณกระดูกหน้าผากจะยุบลงและแบนราบ กับหลังเบ้าตาสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกศีรษะของสิงโตมีโพรงจมูกกว้างกว่าเสือโคร่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแปรผันในของกะโหลกศีรษะของสัตว์ทั้งสองชนิด ปกติแล้วจึงมีเพียงโครงสร้างของขากรรไกรล่างเท่านั้นที่เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือได้ว่าเป็นสปีชีส์ใด[29] สีขนของสิงโตจะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลืองจางๆถึงค่อนข้างเหลือง ออกแดง หรือน้ำตาลเข้ม ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าและพู่หางมีสีดำ ลูกสิงโตที่เกิดมาจะมีจุดลายรูปดอกกุหลาบสีน้ำตาลบนลำตัวคล้ายกับเสือดาว แม้ว่าจุดเหล่านี้จะจางหายไปเมื่อสิงโตโตเต็มวัย แต่บ่อยครั้งกลับยังสามารถพบเห็นได้จางๆบนขาและส่วนท้องโดยเฉพาะในสิงโตเพศเมีย
สิงโตเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวในวงศ์เสือและแมวที่แสดงความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน และแต่ละเพศก็จะบทบาทพิเศษต่างกันไปในฝูง ในกรณีสิงโตเพศเมีย เป็นนักล่าไม่มีแผงคอหนาเป็นภาระเช่นในเพศผู้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอุปสรรคต่อสิงโตเพศผู้ที่จะอำพรางตัวเข้าใกล้เหยื่อและสร้างความร้อนเป็นอย่างมากเมื่อต้องวิ่งไล่ติดตามเหยื่อ สีของแผงคอในสิงโตเพศผู้อยู่ระหว่างสีเหลืองอ่อนถึงดำ ปกติจะเข้มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสิงโตมีอายุมากขึ้น

ส่วนศีรษะและลำตัวยาว 170–250 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว – 8 ฟุต 2 นิ้ว) ในสิงโตเพศผู้ และ 140–175 ซม. (4 ฟุต 7 นิ้ว – 5 ฟุต 9 นิ้ว) ในสิงโตเพศเมีย สูงจรดหัวไหล่ราว 123 ซม. (4 ฟุต) ในเพศผู้ และ 107 ซม. (3 ฟุต 6 นิ้ว) ในเพศเมีย หางยาว 90–105 ซม. (2 ฟุต 11 นิ้ว - 3 ฟุต 5 นิ้ว) ในเพศผู้ และ 70–100 ซม. (2 ฟุต 4 นิ้ว – 3 ฟุต 3 นิ้ว) ในเพศเมีย
[30] สิงโตตัวที่ยาวที่สุดเป็นสิงโตเพศผู้แผงคอสีดำที่ถูกยิงตายใกล้กับมุคส์ซู (Mucsso) ทางตอนใต้ของประเทศแองโกลาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 สิงโตที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติคือสิงโตกินคนซึ่งถูกยิงตายในปี ค.ศ. 1936 นอกเมืองเฮกทอร์สพริต (Hectorspruit) ในทางตะวันออกของจังหวัดทรานสวาล (Transvaal) ประเทศแอฟริกาใต้ มีน้ำหนัก 313 กก. (690 ปอนด์)[32] สิงโตในที่เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตในธรรมชาติ สิงโตที่หนักที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นสิงโตเพศผู้ที่สวนสัตว์โคลเชสเตอร์ (Colchester) ในประเทศอังกฤษ มีชื่อว่าซิมบา (Simba) ในปี ค.ศ. 1970 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 375 กก. (826 ปอนด์)[33]น้ำหนักของสิงโตที่โตเต็มที่จะอยู่ระหว่าง 150–250 กก. (330–550 ปอนด์) สำหรับเพศผู้ และ 120–182 กก. (264–400 ปอนด์) สำหรับเพศเมีย[30] โนเวลล์ (Nowell) และแจ็คสัน (Jackson) รายงานว่าน้ำหนักตัวของสิงโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 181 กก.สำหรับเพศผู้ และ 126 กก.สำหรับเพศเมีย มีสิงโตเพศผู้ตัวหนึ่งที่ถูกยิงตายใกล้กับภูเขาเคนยามีน้ำหนัก 272 กก. (600 ปอนด์)[16] สิงโตมีแนวโน้มของขนาดตัวที่แปรผันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและบริเวณถิ่นอาศัย ผลการบันทึกน้ำหนักของสิงโตที่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง ในกรณีสิงโตในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มของน้ำหนักตัวมากกว่าสิงโตในแอฟริกาตะวันออก 5 %[31]
มีลักษณะเด่นชัดมากที่ปรากฏในสิงโตเพศผู้และเพศเมียคือมีขนกระจุกที่ปลายหาง ในสิงโตบางตัว ขนกระจุกจะปกปิด"เงี่ยงกระดูก"หรือ"ปุ่มงอก"ซึ่งยาวประมาณ 5 มม.ซึ่งเกิดจากส่วนสุดท้ายของกระดูกหางรวมตัวกัน สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวเพียงชนิดเดียวที่มีขนกระจุกที่ปลายหาง หน้าที่ของขนกระจุกและเงี่ยงกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เมื่อแรกเกิดลูกสิงโตจะไม่มีขนกระจุกนี้ ขนกระจุกจะเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อมีอายุประมาณ 5½ เดือน และสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออายุ 7 เดือน[34]





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น